งานแถลงผลการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมการตลาด
เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 ตุลาคม 2563
ณ ห้อง Ballroom ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชั้น 7
อาคารบางซื่อจังซั่น (DD Mall) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ คณะบริหารธุรกิจ ได้จัดงานแถลงผลการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมการตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยภายในงานมีการแสดงผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ทำร่วมกับพันธมิตรของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์ในมิติต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องการใช้งานวิจัยเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชน อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นกลไกตลาดร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเป็นนโยบายของประเทศต่อไป
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า นอกจากการแถลงผลการดำเนินโครงการนวัตกรรมการตลาดเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นวันสำคัญในการลงนามความร่วมมือระหว่าง มทร.ธัญบุรี กับ 3 ผู้ประกอบการธุรกิจ คือ บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงแรมบุราภัฎ รีสอร์ท ในการที่มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางการประสานงานให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากกลุ่มผู้ผลิตในชุมชน มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางจัดหน่ายของผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไป
ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการฯ ว่าเป็นการทำงานวิจัยเพื่อส่งเสริมและพัฒนากลไกโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้กลับสู่ชุมชนเพื่อสร้างการเติบโตและสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจผ่านการรวมตัวของสมาชิกในชุมชนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กลับสู่สมาชิกเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาช่องทางการตลาดสินค้าชุมชน รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ มทร.ธัญบุรี ที่ครอบคลุมช่องทางการตลาดออนไลน์และช่องทางอื่นๆ
“งานวิจัยของมทร.ธัญบุรี มีเป้าหมายเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากนวัตกรรม การวิจัยและการบริการวิชาการ สร้างคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ และเผยแพร่องค์ความรู้ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งทางมทร.ธัญบุรี มีการผลักดันและสนับสนุนงานวิจัยในทุกภาคส่วน มีการจัดตั้งหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ อย่างครอบคลุม ซึ่งได้ดำเนินการตามนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเข้าสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ภายใต้กรอบแนวคิดเชิงนวัตกรรม ด้วยการปลูกฝังการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน สามารถทำงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้สร้างและมีคุณภาพกรณีจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดปทุมธานี อีกทั้งยังสามารถสร้าง GDP ของจังหวัดให้เพิ่มขึ้นได้ด้วย ซึ่งเชื่อและมั่นใจว่า มทร.ธัญบุรีจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมกรรม ที่นำความรู้ไปพัฒนาชุมชนได้จริง”
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. กล่าวว่า บพท. เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่รู้จักบริบทในพื้นที่ดีที่สุด เพราะหน่วยบริหารจัดการในพื้นที่เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารในภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัด และผู้บริหารในระดับท้องถิ่น จะมีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่ มหาวิทยาลัยสามารถเป็นโครงสร้างความรู้ที่อยู่เกาะติดพื้นที่ในระยะยาวได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ชุดโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยเป็นกลไกดูดซับ ที่ใช้ศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยทั้งโครงสร้างกำลังคน และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ มาสร้างตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ของชุมชน หรือเป็นตัวกลางกระจายสินค้าไปสู้ผู้บริโภค ขณะนี้สามารถทำให้กลุ่มผู้ประกอบการชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง และทำให้เป็นนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน
“อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นโครงการนวัตกรรมการตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่เกิดจากการการวิเคราะห์ Value Chain ในสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่าในสินค้า 100 บาท ผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้นน้ำจะได้ประมาณ 5 บาทเท่านั้นเอง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่กับผู้แปรรูปขั้นสุดท้าย กับผู้รับไปขาย เป็นความจริงในสังคมไทย เราจึงมาท้าทายราชมงคลในปีที่แล้วให้ทำงานวิจัยใน 9 จังหวัด โดยทำ commitment กับมหาวิทยาลัยว่า เกษตรกรต้นน้ำ ผู้ผลิต จะได้สัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น กรณีของ มทร.ธัญบุรี ซึ่งลงไปทำงานวิจัยที่หวัดปราจีนบุรี สิ่งที่น่าตกใจคือ ในจังหวัดปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่มีการปลูกไผ่มากที่สุดในประเทศ แต่ในยุทธศาสตร์จังหวัดกลับไม่มีเรื่องไผ่ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเข้าไปหนุนกระบวนการ Value Chainของไผ่ แล้วทำให้เกิดยุทธศาสตร์และแผนประจำปีของจังหวัดปราจีนบุรีเรื่องไผ่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นผลงานของ มทร.ธัญบุรีที่น่ายกย่อง”
อนึ่งภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากผู้ประกอบการที่ร่วมในโครงการวิจัยต่างๆ ของ มทร.ธัญบุรี เช่น ผลิตภัณฑ์จากไผ่ อาทิ ผงขัดฟัน ผงขัดผิวกายและผิวหน้า สบู่ถ่านไม้ไผ่ธรรมชาติ สเปรย์น้ำแร่จากไผ่บันตัน เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ พิมพ์ตะวัน ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี และปทุมธานี ทั้งหมดล้วนเป็นงานวิจัยของนักวิจัย
นอกจากนี้ในช่วงบ่ายเป็นการรายงานความก้าวหน้าชุดโครงการนวัตกรรมการตลาด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บพท.อีกด้วย
[supsystic-gallery id=232 position=center]